Dec
หลาย ๆ คน คงชื่นชอบ การทาน ของหวาน แสนอร่อย ที่หน้าตาสดใส น่ารัก น่าทาน อย่าง เค้ก ใช่ไหมคะ ซึ่งวันนี้ เราจะไปดูวัฒนธรรม ในการทาน เค้ก ที่มีมากกว่า ความอร่อย
วันนี้ เรามาดู การเดินทางของ “เค้ก” ( cake ) กันค่ะ ว่า มีประวัติศาสตร์อันยาวนานสุด ๆ เลย ซึ่ง เค้ก นั้นมีรากศัพท์ มาจากคำว่า “kaka” ในภาษาของ ชาวไวกิ้ง ( Old Norse word ) โดยจัดเป็นอาหารชนิดหนึ่ง ที่มักจะมีรสหวาน เเละได้ผ่านกระบวนการอบ มีส่วนผสมสำคัญ ได้แก่ เเป้ง น้ำตาล เเละส่วนประกอบอื่น ๆ อย่างพวก ไขมัน อาทิ เนย ชีส ยีสต์เเละนม นอกเหนือจากนี้ ก็ยังมีไข่ ผัก เเละผลไม้ ที่ได้มาเสริมรสหวาน เเละเปรี้ยว ที่สร้างสรรค์ ให้มีรสชาติที่อร่อยมากขึ้นอีกด้วย โดยว่ากันว่า ช่วงราวศตวรรษที่ 13 มีการค้นพบหลักฐาน ของการอบขนมเค้ก ที่เก่าเเก่ของชาวอียิปต์ โดยในสมัยโบราณนั้น มักจะเป็นเค้กผลไม้ เเละ Gingerbread ขณะที่รูปแบบของเค้กทรงกลม ที่เราได้เห็นในทุกวันนี้ คาดว่าจะเริ่มมีช่วง ราวกลางศตวรรษที่ 17 ในช่วงที่มีการพัฒนานวัตกรรมเตาอบ เเบบพิมพ์ขนม เเละน้ำตาลทราย โดยที่ เค้ก ส่วนใหญ่ นั้นจะรับประทานพร้อม กับไวน์หรือน้ำชา นั่นเอง
ส่วนทางยุโรป เเละอเมริกาเหนือ เปรียบเสมือนศูนย์กลางของวัฒนธรรมเค้ก เเต่เดิมนั้น ผู้คนส่วนใหญ่จะนิยมทำเค้กขึ้นมา เพื่อใช้ในการบูชาพระเจ้า เเละจัดเป็นอาหาร สำหรับคนในครอบครัว ก่อนจะเเพร่หลายเป็นวงกว้าง เเละได้ถูกนำมาใช้ในโอกาสสำคัญอย่างปัจจุบัน โดยในทาง ฝรั่งเศส เค้กไม่ได้หมายถึงแค่ ขนมเค้กอย่างเดียว เเต่รวมไปถึง fruit cake ทุกชนิด เช่นเดียวกับสหราชอาณาจักร เเละสหรัฐอเมริกา ที่มีการใช้คำว่าเค้ก กับพวกขนมหวานหลายชนิด อาทิ Iced cake เเละ chocolate cake เป็นต้น
แต่ทว่า ในเเง่หนึ่ง วัฒนธรรมเค้กของตะวันตก ก็ได้มีการประยุกต์ มาจากวัฒนธรรมในเอเชียบ้างเล็กน้อย อย่างเช่น การทำเค้กให้มีขนาดเล็กลง เหมือนกับเค้ก kasutera ของญี่ปุ่น อย่างไรก็ตาม เค้กในเอเชีย ก็ยังค่อนข้างเเตกต่าง กับทาง เค้กของตะวันตก เช่น ขนมไหว้พระจันทร์ เเละเค้กข้าวของฟิลิปปินส์ เป็นต้น ซึ่งจุดเปลี่ยนเเปลงสำคัญ ของวงการเค้ก นั่นคือ การค้นพบของอัลเฟรด เบิร์ด ( Alfred Bird ) ในปี ค.ศ.1843 ซึ่งเขานั้น สามารถคิดค้น “ผงฟู” หรือ baking powder ขึ้นมาได้ ทำให้สามารถทำขนมปังชนิดที่ไม่มียีสต์ได้เป็นครั้งเเรก จากเเรงบันดาลใจที่ภรรยาของเขา ที่ป่วยเป็นโรคภูมิเเพ้อาหารที่มีส่วนผสมของไข่เเละยีสต์
เมื่อเค้ก สไตล์ตะวันตก ได้เข้ามาสู่ประเทศไทย
สำหรับวัฒนธรรมของเค้กในประเทศไทยนั้น มีการคาดการณ์ว่าน่าจะเข้ามาในช่วง 60 กว่าปีที่เเล้ว เเต่ทว่า ความนิยมยังจำกัดอยู่ในหมู่ชาวตะวันตกที่อาศัยอยู่ในไทย หรือว่า กลุ่มคนที่ได้รับอารยธรรมตะวันตกเข้ามา โดยกลุ่มคนที่มีความใกล้ชิด กับพวกชาวต่างประเทศเท่านั้นที่จะมีโอกาสได้ทานขนมเค้กบ่อย ๆ โดยภายหลังจากนั้นราวช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เค้กตะวันตกเริ่มเป็นที่รู้จักเเละได้รับความนิยมในวงกว้างมากขึ้น ด้วยอานิสงส์จากการค้าการลงทุนจากต่างชาติ ไม่ว่าจะเป็น ธุรกิจท่องเที่ยวเเละโรงเเรมที่เฟื่องฟูขึ้น เเละเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้าพักในเมืองไทย โรงเเรมต่างๆ จึงต้องผลิตขนมอบเเละขนมเค้กขึ้นมาบริการชาวต่างชาติที่ไม่ค่อยคุ้นเคยกับอาหารท้องถิ่น รวมถึงเริ่มถูกนำไปใช้ในงานเลี้ยงสังสรรค์ ต้อนรับเเขกในงานสัมมนา งานเเต่งงานเเละการฉลองงานวันเกิด โดยการเปลี่ยนเเปลงที่เห็นได้ชัดในยุคนั้นคือ เริ่มมีร้านเบเกอรี่เปิดขายทั่วไปมากขึ้นนั่นเอง
ซึ่งหลังสงครามเวียดนามสิ้นสุดลง ธุรกิจเบเกอรี่ก็ยังคงได้รับความนิยมต่อเนื่องเรื่อยมาเเละเริ่มมีบทบาทสำคัญกับชีวิตคนไทยมากขึ้น ด้วยการเป็นขนมที่ทานง่ายเหมาะกับไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตที่เร่งรีบ รวมถึงความนิยมกินเบเกอรี่กับกาเเฟหรือว่าเครื่องดื่มในคาเฟ่ ขณะที่หน่วยงานต่างๆ เริ่มมีการเเนะเเนวสอนทำขนมอบ เผยเเพร่สูตรทำเค้กให้ผู้คนนำไปประกอบอาชีพอย่างกว้างขวาง
กล่าวได้ว่า เค้ก เปรียบเสมือน ความสุข ซึ่งทุกวันนี้ เราก็ปฏิเสธไม่ได้ ว่าเค้กได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเราเเล้ว เเม้เเต่ในยามเหนื่อยเมื่อยล้า ก็ขอเพียงได้ทาน “เค้กสักชิ้น” ก็ทำให้ใจชื้นขึ้นมา หลาย ๆ คน ถึงบอกว่าถึงเเม้ว่า จะอยู่ในเทรนด์กระเเสฮิตรักสุขภาพ เเต่หากนาน ๆ ที ได้มา ลิ้มลองเค้กอร่อย ๆ ก็เปรียบเสมือนเป็น การให้รางวัลชีวิต ให้ความสุขแก่ชีวิตเช่นกัน ความใกล้ชิดนี้ ก็ทำให้เค้ก นั้นไม่ได้จำกัดอยู่เเค่ในงานเเต่งงาน เเละงานวันเกิดเท่านั้น เเต่ว่า เค้ก ก็จะอยู่กับเราในทุก ๆ ช่วงโอกาส
เเต่ไม่ว่าเเบบไหน ๆ ก็ต้องยอมรับว่า “เค้ก” ได้กลายมาเป็นตัวเเทน ของความสนุก สนาน ความรื่นเริง เเละน่ายินดี ตั้งเเต่งานที่ใหญ่ เลิศหรู อลังการ ไปจนถึงงานเล็ก ๆ ที่เน้นอบอุ่น หรือเพียงเเค่นั่งชิมเค้กก้อนเล็ก ๆ ในคาเฟ่ หรือว่า เพียงกลิ่นหอม ๆ บอกเลยว่า เค้ก นั้นได้เชื่อมโยงเรากับทุก ๆ ช่วงชีวิตของเรา แค่ได้ทาน ก็ชื่นใจแล้วล่ะ
อ่านบทความเพิ่มเติม